รายงานการประชุม ผู้บริหารสพฐ./สพท./สถานศึกษาและบุคลากร “พุธเช้า ข่าวสพฐ.” ผ่าน Video Conference เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ครั้งที่ 2/2560 วันพุธที่ 18 ตุลาคม 2560 เวลา 08.00 – 09.00 น.

วันที่โพสต์: Oct 19, 2017 3:32:39 PM

รายงานการประชุม ผู้บริหารสพฐ./สพท./สถานศึกษาและบุคลากร

“พุธเช้า ข่าวสพฐ.” ผ่าน Video Conference เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ

ครั้งที่ 2/2560 วันพุธที่ 18 ตุลาคม 2560 เวลา 08.00 – 09.00 น.

เริ่มประชุมเวลา 08.00 น.

พิธีกร โดย นางสาวสุวิมล อิ่มศรี สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวต้อนรับท่านประธาน และผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้ง

นำเข้าสู่ VTR ศาสตร์พระราชา ที่นำเสนอไปเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2560 โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนนำเข้าสู่การประชุม

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประธานการประชุม กล่าวว่า ในการนำเนินการประชุม “พุธเช้า ข่าวสพฐ.” ภายใต้สโลแกน “ตรงถึงครู รู้ถึงนักเรียน และประชาชน” เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารของ สพฐ. สพท. ครู นักเรียน จะมีความเท่าทันในข่าว เหตุการณ์ และนโยบายต่าง ๆ และรับรู้ได้ว่าทิศทางการศึกษา ทิศทางการดำเนินงานขององค์กรไปทางไหน ถ้าเราได้เดินร่วมกันไปพร้อม ๆ กัน หวังว่าเราก็ได้ร่วมกันพัฒนาการศึกษา ตามสโลแกนที่กำหนดไว้ว่า “ตรงถึงครู”

ในโลกปัจจุบันนั้น ข่าวสารมีผลิตออกมาแต่ละวันนั้นมีมาก ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น ก็จะถึงทุกคนอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว แต่การจะไปถึงเป้าหมายที่แท้จริงนั้น บางครั้ง ข่าวสารต่างๆ

ก็อาจจะถูกบิดเบือน หรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ด้วยมีความเห็นเติมไปในข้อเท็จจริง

บางเรื่องก็ทำให้เราซึ่งอยู่ปลายทางเราซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ 4 แสนคน ก็อาจจะมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน และที่สำคัญขอฝาก ท่านผู้บริหารเพื่อนครู ว่า ตรงถึงครู เรายังมุ่งหมายให้รู้ถึงนักเรียน และประชาชน ฉะนั้นสิ่งทั้งหลายที่ท่านได้รับรู้ก็นำสู่การปฏิบัติ จะให้เกิดขึ้นปรากฏชัดอยู่กับนักเรียน การทำสิ่งใดที่เป็นการพัฒนานักเรียน ซึ่งเป็นลูกหลานของประชาชน เขาก็จะเป็นประชาชนที่ดีต่อไปข้างหน้านั้น ผู้ปกครองจะรับรู้สิ่งที่เราเติมเต็มสิ่งที่ดีๆ ให้กับนักเรียน จะเป็นการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศว่า ณ เวลานี้ สพฐ. คุณครู บุคคลกรทางการศึกษาของ สพฐ. ที่มีอยู่ทุกโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 3 หมื่นโรงเรียนนั้นกำลังทำอะไร และเชื่อว่าในอดีต เราได้สร้างแต่สิ่งที่ดีๆ เติมเต็มไปในลูกหลานของประชาชน แต่สิ่งเหล่านั้นอาจจะยังรู้ไม่ทั่วถึง ก็เหมือนกับว่าพวกเรายังไม่มีผลงาน แต่ว่า ณ วันนี้เชื่อว่า 4 แสนกว่าคนของ สพฐ. จะช่วยกัน สร้างพลังให้ สพฐ. มีพลังมากยิ่งขึ้น

การที่ สพฐ. กำหนดให้เป็น “พุธเช้า ข่าวสพฐ.” นี้ มีที่มาจากความต้องการสื่อสารกับ

คน 4 แสนคน ให้เดินไปด้วยกัน โดยปกติแล้วผู้บริหารของ สพฐ. ก็จะประชุมกันทุกวันอังคาร เพื่อที่จะได้พิจารณาขับเคลื่อนโครงการ หรืองานต่างๆ ให้เดินหน้า อะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับคุณครู เกิดขึ้นกับนักเรียน เกิดขึ้นกับโรงเรียน และก็เขตพื้นที่ เราก็จะได้นำเรื่องนั้นมาหารื้อกัน ในเช้าวันอังคาร จากนั้นช่วงบ่ายวันอังคารเวลาประมาณ 15.00 น. ทุกวัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการทุกท่าน ก็จะเชิญผู้บริหารขององค์กรหลัก ทั้ง 5 แท่ง ได้ประชุมเพื่อรับนโยบาย ทั้งเป็นข้อราชการจาก ครม. ทั้งเป็นข้อราชการที่รัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านจะได้ให้นโยบายกับพวกเราผ่านองค์กรหลัก ก็จะเป็นการรวบรวมสาระของเช้าวันอังคาร บ่ายวันอังคาร แล้วก็มาพบปะกับ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา บุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศในเช้าวันพุธนี้ ฉะนั้นทุกเช้าวันพุธ จะได้รับทราบความเคลื่อนไหวที่เป็นข่าวอัพเดทล่าสุด

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปถึงเรื่องของการออกทุกข์ว่า จากการที่พวกเราประชาชนชาวไทยร่วมกันไว้ทุกข์ให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นเวลา 1 ปี ทางรัฐบาล นายกรัฐมนตรีก็ได้แจ้งในที่ประชุม ครม. รมว.ศธ. ได้แจ้งว่า ในวันที่ 29 ที่เราจะออกทุกข์ จึงฝากให้ ดำเนินการอยู่ 2 เรื่อง ดังนี้

เรื่องแรก ผ้าขาว-ดำ ที่เราจับเป็นริ้วเป็นจีบเพื่อเป็นการไว้ทุกข์ ประดับประดาอาคารเรียน

ทุกแห่งนั้น ในวันที่ 29 เมื่อเก็บแล้ว ก็ขอให้พิจารณาดำเนินการ ซึ่งผ้านั้นเคยเป็นผ้าที่เราใช้เทิดพระเกียรติของพระองค์ จึงควรเก็บให้อยู่ในที่เหมาะสม เพราะเป็นของที่เราเคยถวายกับพระองค์ ทำถวายพระองค์ ก็เก็บผ้าขาวดำเหล่านี้ให้เหมาะสม รวมถึงรูปของในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยประดับไว้อย่างไรในช่วงไว้ทุกข์ ถึงแม้นจะเอาผ้าออกแล้ว ก็ให้เอารูปนั้นอยู่เหมือนเดิม พระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ทั้งหมดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังคงติดไว้เหมือนเดิม จนกว่ามีการแจ้งมาจากทางรัฐบาลว่าให้เราปฏิบัติอย่างไร ฉะนั้นรูปของรัชกาลที่ 9 ก็ยังจะคงอยู่เหมือนเดิม

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สพฐ. และโรงเรียนไกลกังวลทางมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียม จะคัดเลือกคุณครูที่สอนปฐมวัย จากทุกเขตพื้นที่ ฉะนั้นเราจึงต้องการคุณครูเหล่านี้มาเป็นต้นแบบในการสอนจากโรงเรียนต้นทางที่ไกลกังวล เพื่อที่จะช่วยโรงเรียนที่อยู่ปลายทางนั้น ได้มีต้นแบบที่ดีในการจัดกิจกรรมการเรียน การสอน ตามชั้นอนุบาล 1 อนุบาล 2 และก็ อนุบาล 3 ซึ่งจะมีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพร้อมทั้งมอบให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตให้ความสำคัญและช่วยกัน ยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งไม่สามารถทำให้คุณครูได้พัฒนาพร้อมกันทั้งประเทศได้ด้วยการจัดอบรม บางเรื่องก็เป็นความสามารถเฉพาะ บุคลิกเฉพาะ

จึงต้องคัดจากคนได้รับการยอมรับมาเป็นต้นแบบในการจัดการเรียนการสอน โดยให้ครูท่านอื่นๆ

จัดกิจกรรม ช่วยสนับสนุนตามอยู่ที่ห้องเรียนปลายทาง

ต่อมา เลขาธิการ กพฐ. ได้ฝากถึงกรณีเกิดภัยน้ำท่วมขึ้นหลายแห่ง ซึ่ง สพฐ. ได้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาทความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่ยังห่วงใยที่จะดูแลนักเรียน ดูแลโรงเรียน ฉะนั้น เมื่อน้ำลดแล้ว ก็ขอให้โรงเรียนรีบแจ้งความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวัสดุสิ่งของ หรือผลกระทบจากชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่เป็นผู้ปกครองของนักเรียน ก็ให้แจ้งเขตพื้นที่ เขตพื้นที่ก็แจ้งมาที่สพฐ. ต่อไป อีกทั้งเพื่อเป็นการเตรียมการในเชิงรุกรับมือกับภัยหนาว ของนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่สูง สพฐ.จะนำโครงการ รับบริจาค เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มกันหนาว ไปช่วยเหลือน้องๆในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท ห่างไกล และก็กันดารที่จะต้องผจญกับภัยหนาว ในช่วงหน้าหนาวด้วย

นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า รายการพุธเช้าข่าว สพฐ. ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 การขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน หากว่าไม่มีการขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกัน ก็อาจจะทำให้การปฏิบัติในแต่ละเรื่องนั้น อาจจะหลงทิศหลงทาง ซึ่งในวันนี้ก็เป็นเจตนารมณ์ที่ดีของ เลขาธการ กพฐ. และก็ทีมผู้บริหารทุกคน ที่อยากจะสื่อสาร เหมือน motto ของ พุธเช้า ข่าว สพฐ. “สื่อสารถึงคุณครู โดยตรง” และก็ทำให้นักเรียนและก็ประชาชนรับรู้ไปพร้อมๆ กันด้วย

นางสุกัญญา งามบรรจง ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ประเทศไทยมีความร่มเย็นเป็นสุขเป็นเวลายาวนานนั้น เนื่องจากประชาชนทุกคนได้อยู่ภายใต้พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกยุคทุกสมัย และเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รับมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ทาง สพฐ. ได้จัดกิจกรรมการเขียนเรียงความการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนไทยมีความรักชาติรักแผ่นดิน เทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่ง สพฐ. ได้วิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ในสาระประวัติศาสตร์ เพื่อให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษานำไปใช้ในการสื่อสารให้ทุกโรงเรียนได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยให้การเขียนเรียงความเป็นไปตามศักยภาพแต่ละวัยของผู้เรียน ซึ่งทาง สพฐ. ได้ทำข้อมูลจัดส่งให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษา ดังนั้น สพฐ. จึงขอความร่วมมือให้ทุกโรงเรียนจัดกิจกรรมให้นักเรียนทุกชั้นเรียนได้เขียนเรียงความ และส่งเรียงความนั้นไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อคัดเลือกและให้เกียรติบัตร สำหรับผู้ที่ได้ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยขอให้ดำเนินการทุกเดือนโดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป ขณะที่ผลงานที่ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารวบรวมและเห็นว่ามีความโดดเด่นสามารถส่งมาที่ สพฐ. และสามารถได้รับรางวัลของ สพฐ.ต่อไป ซึ่งสามารถส่งผลงานได้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ส่งมาที่สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา อาคาร สพฐ. 3 ชั้น 5 กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาสามารถจัดทำคลิปกระบวนการของการส่งเสริมการเขียนเรียงความ ส่งมายัง สพฐ. เพื่อใช้ออกในรายการ พุธเช้าข่าว สพฐ. ได้อีกด้วย นอกจากนี้การส่งเสริมในเรื่องของการเขียนเรียงความสามารถที่จำกำหนดเป็นหัวข้อในการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมในระดับภาค รวมไปถึงงานวันภาษาไทยในโครงการรักษ์ภาษาไทย ทั้งหมดนี้จะเป็นแนวทางที่ สพฐ. จัดส่งให้ขอความร่วมมือให้ทุกโรงเรียนได้จัดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อให้เขตพื้นที่ขอความร่วมมือให้ทุกโรงเรียนจัดกิจกรรมการเขียนเรียงความดังกล่าว ทั้งหมดนี้คือข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมการเขียนเรียงความเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกส่วนหนึ่งที่เป็นข้อเน้นย้ำของนายกรัฐมนตรี คือ เรื่องการส่งเสริมให้มีการใช้ภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งนำเสนอ VTR

ต่อมา นางสุกัญญา ได้กล่าวถึงข้อเน้นย้ำของนายกรัฐมนตรี ถึงการส่งเสริมให้มีการใช้ภาษาอังกฤษ ผ่านแอพลิเคชั่น ECHO English โดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กำกับติดตามให้สถานศึกษาได้ใช้แอพลิเคชั่นดังกล่าว จึงขอเชิญชวนให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษา ได้ประชาสัมพันธ์ให้ทุกโรงเรียนได้ดาวโหลดแอพลิเคชั่น ECHO English เพื่อมาใช้ในการฝึกทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่นายกรัฐมนตรี ได้ฝากกระทรวงศึกษาธิการ คือ เรื่องของการทำป้ายและข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษจึงขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต สนับสนุนให้ทุกโรงเรียนได้ทำป้ายภาษาไทยและภาษาอังกฤษตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษควบคู่กันไป โดยจะมีสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. ได้ติดตามข้อมูลเพื่อนำมารายงานนายยกรัฐมนตรีในโอกาสต่อไป

นายณรงค์ แผ้วพลสง กล่าวสรุปใน 2 ประเด็นสำคัญคือ สิ่งเหล่านี้ได้สั่งการผ่านหนังสือมาแล้ว ทั้งหมดนี้ทำอย่างจะสื่อให้ผู้บริหารและครูได้รับรู้เรื่องนี้สำคัญ และเขตพื้นที่ต้องติดตาม ทั้งการเขียนเรียงความและประวัติศาสตร์ เช่น เอาวิชาภาษาไทยมาบูรณาการกับประวัติศาสตร์ ปลูกจิตสำนึกเด็กให้มีความสำนึกรักชาติ 2. เรื่องภาษาอังกฤษ จาก VTR ทุกคนถ้าตั้งใจมุ่งมั่นที่จะเข้าถึงภาษาอังกฤษก็มีอะไรที่หลากหลายมากมายที่น่าสนใจ และสิ่งที่ผู้บริหารได้คิดแอฟคือ เอ็กโคภาษาอังกฤษ และพัฒนาเป็น ไฮบริด ด้วย ฝากเขตและผู้บริหารและครูที่ต้องนำไปสู่ภาคปฏิบัติ ส่วนการนำสู่ภาคปฏิบัติไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในห้องเรียน ทั้งโรงเรียน ห้องเรียน และเขต ต้องออกแบบเพื่อให้ครูได้ใช้แอฟนี้ให้มากที่สุด หลายคนอาจจะคิดว่าต้องมีสมาร์ทโฟน หรืออะไรต่าง ๆ ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป

เรื่องสำคัญอีกเรื่อง เชิญผู้รับผิดชอบ เวทคณิต พร้อมทั้งนำเสนอ VTR ก่อนนจะนำเข้าสู่ผู้รับผิดชอบ ในวิชาคณิตศาสตร์

นายณรงค์ แพ้วพลสง กล่าวว่า เรื่องวิชาคณิตศาสตร์นักเรียนหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นเรื่องง่าย วิชาหนึ่งที่โดดเด่นคือ คณิตศาสตร์ รูปแบบการพัฒนาคณิต มีหลายหลาย ฝากคุณครูคณิตศาสตร์ ศึกษานิเทศก์ รวมถึงผู้บริหาร ฉะนั้น การที่ผู้ที่จะเริ่มต้นเรื่องคณิตศาสตร์ ฝากผู้ที่ยังไม่เคยเรียนรู้จากเรื่องนี้ เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยครูเป็นอย่างดี เช่น ระบบ DLIT การจะเริ่มต้นของคณิตศาสตร์ ขั้นง่าย ๆ คือ เปรียบเทียบสิ่งที่สอนมากับวิธีการของเวทคณิตศตร์ ลองเปรียบเทียบและทดลองดูว่าผลจะเกิดเหมือน VTR ไม๊ เพราะเค้าได้ดำเนินการจริง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ฝาก ครู ผู้บริหาร เขตพื้นที่ และ ศน.ที่รับผิดชอบ

พิธีกร ให้รับชม VTR นำเสนอตัวอย่างผลงาน เรื่อง การฝึกอบรมบุคลากรทางการลูกเสือระดับผู้นำ ขั้นความรู้ชั้นสูง รุ่น 816 สำหรับการพัฒนาให้กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาใหม่ จำนวน 110 คน ทั้งนี้ หากโรงเรียนหรือ สพท.ใดที่ผลงานหรือโครงการดีๆ ที่สอดคล้องกับนโยบาย สพฐ.หรือกระทรวงศึกษาธิการ สามารถส่งผลงานมาได้เป็นไฟล์ MP4 ไม่เกิน 3 นาที ส่งมาที่ www.obec@gmail.com หรือ App Line โดยจะได้นำผลงานมานำเสนอใน พุธเช้า ข่าวสพฐ. เป็นประจำ

ช่วงท้ายของรายการ นายณรงค์ แพ้วพงสง กล่าวถึงเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารงานบุคคลต่าง ๆ ขอเรียนเชิญ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.

นายอัมพร พินะสา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงความเคลื่อนไหวในการบริหารงานบุคคลว่า ได้มีมติจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) ให้ชะลออัตรากำลังของ 38ค (2) ในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่ง สพฐ.ได้จัดทำโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังใหม่ ซึ่งได้เพิ่มโครงสร้างของเขตพื้นที่การศึกษาจาก 7 กลุ่ม เป็น 9 กลุ่ม คือเพิ่มกลุ่มพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และกลุ่มที่ว่าด้วยเรื่องของ ICT ทางไกลผ่านดาวเทียมและเทคโนโลยี โดยจัดอัตรากำลังใหม่ คือเพิ่มอัตรากำลังไปให้เขตพื้นที่การศึกษามีอัตรากำลังเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งในขณะนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้เสนอความเห็นชอบเสนออัตรากำลังไปยัง ก.ค.ศ. เพื่อนำเข้าอนุมัติ เมื่อผ่านความเห็นชอบจึงจะนำไปใช้ได้ในโอกาสต่อไป

ประเด็นที่ 2 นายอัมพร กล่าวถึงวิทยฐานะครูว่า มีความเคลื่อนไหววิทยฐานะของครูที่ได้ยื่นคำขอไว้เมื่อปี 2559 ตาม ว13 ซึ่งมีผู้เกษียณยื่นไว้ 158 ราย และผู้ยื่นปกติ 4,998 ราย ซึ่ง กคศ.ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทั้งหมด 3 คณะ เพื่อแทนคณะชุดเดิมซึ่งหมดวาระ ซึ่งการดำเนินการพิจารณาเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่เกษียณอายุราชการ มีทั้งหมด 237 ราย ผลการประเมินผ่าน 29 ราย

ไม่ผ่านคุณสมบัติ 208 ราย

2. กลุ่มที่มีคุณสมบัติรางวัลครบตรงตามที่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด

3. ประเมินกลุ่มที่มีผลงานเทียบเคียง

ประเด็นที่ 3 นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากในปีนี้จะเป็นปีที่เพิ่มบุคลากรเข้าไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน รวมไปถึง สพฐ. จึงได้มีการเตรียมการทำปฏิทินการสอบไว้ทั้งหมด 8 รายการ ดังนี้

1. สอบคัดเลือกครูผู้ช่วย ว.16

2. สอบคัดเลือกศึกษานิเทศก์

3. สอบคัดเลือกรอง ผอ. โรงเรียน และ ผอ.โรงเรียน

4. คัดเลือก 38ค (2)

5. สอบแข่งขันครูผู้ช่วยในเดือนเมษายน

6. สอบแข่งขันข้าราชการพลเรือนในส่วนกลาง

7. สอบ 38 ค (2) ที่จะเพิ่มเติมบุคลากรไปยังเขตพื้นที่

8. สอบรอง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา

ซึ่งทั้ง 8 รายการนี้ จะเป็นช่วงเวลาในการเตรียมแผนในการดำเนินการคัดบุคคลเข้าสู่ระบบเพื่อให้มีบุคลากรทันในการปฏิบัติงาน จึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริหารได้รับทราบเบื้องต้น

สืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เล็งเห็น

ความยากลำบากของข้าราชการครูที่ปฏิบัติงานในถิ่นทุรกันดาร จึงมีแนวความคิดให้ข้าราชการครู

ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารและมีความยากลำบากนั้นได้รับค่าตอบแทนพิเศษ จึงได้มีการออกแบบสำรวจเกี่ยวกับบุคลากร คณะครูซึ่งประกอบไปด้วย ผู้บริหาร ครู ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โดยมีสภาพความกันดาน ความยุ่งยากลำบาก ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา ซึ่งกำหนดเอาไว้ คือ พื้นที่ที่มีการคมนาคมยากลำบาก พื้นที่มีความขาดแคลนสาธารณูปโภค และสาธารณูปการหรือปัจจัยพื้นที่ในการดำรงชีวิต พื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัย แลพื้นที่ที่มีความชุกชุมของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งแบบสำรวจครั้งนี้ทาง สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สพฐ. จำดำเนินการจัดทำและแจ้งไปที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ให้ทำการสำรวจไม่ให้ตกหล่นเพื่อให้ครูทุกท่านได้รับโอกาสเงินค่าตอบแทนครั้งนี้ต่อไป

เรื่องสุดท้ายของงานบุคคล หลายท่านอาจจะกำลังรอโอกาสว่าเมื่อไหร่ ผอ.เขต คนใหม่จะไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกำลังจะนำเข้าอนุมัติ ก.ค.ศ. เพื่ออนุมัติแต่งตั้งบุคคลดังกล่าว เป็น ผอ.เขต ในวันที่ 30 ตุลาคม2560 นี้ จึงขอเรียนแจ้งเพื่อทราบไว้เพียงเท่านี้

พิธีกร นำเสนอ VTR ที่เป็นความร่วมแรงร่วมใจของภาคเอกชนและรัฐบาล เรื่องการศึกษา โครงการ connect ED (สานพลังประชารัฐ) โครงการพัฒนาเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่มีความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาและสร้างผู้นำ

ช่วงสุดท้าย พุธเช้า ข่าว สพฐ. เลขาธิการ กพฐ. ตรงถึงครู รู้ถึงนักเรียน และประชาชน จากคำถามถึง ผอ.เขต คนใหม่ จะมีเมื่อไหร่ ขอเรียนว่า จะประชุม ก.ค.ศ. 30 ต.ค.2560 นี้ ทั้งนี้จะมีมติแต่งตั้ง 1 พ.ย.2560 จะเสริมกำกลังไปอีก 110 คน ทำให้ สพฐ.เข้มแข็ง และขอประชาสัมพันธ์เรียนเชิญทอดกฐินพระราชทาน ณ วัดกลาง จ.บุรีรัมย์ และขอขอบคุณและอนุโมทนากับคณะครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษาที่ได้ร่วมแรงร่วมใจเรื่องการทำบุญ และขอเชิญชวนผู้มีฝีมือ ถ้ามีความสามารถหรือไอเดียดีๆ ส่งไฟล์การออกแลลฉากหลังมา ถ้าได้รับการออกอากาศจะได้รับของที่ระลึกจาก สพฐ. และได้รับการออกอากาศช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้ และอีกเรื่อง วันที่ 25 เป็นวันใกล้วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ จึงของด พุธเช้า ข่าวสพฐ. 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะมีความเข้มข้นขึ้นเช่นเดิม และแจ้งชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ช่วงเดือนธันวาคม 2560 สพฐ.จะเชิญคณะกรรมการการศึกษา

ขั้นพื้นฐาน ไปประชุมที่โรงเรียนที่ห่างไกลที่อากาศหนาวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และในคราวเดียวกันจะนำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเพื่อไปบริจาคให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยหนาว และที่สำคัญจะได้นำ พุธเช้า ข่าวสพฐ. สัญจรไปจัดรายการที่โรงเรียนที่ไปจัดกิจกรรมในวันนั้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนในคราวเดียวกัน สุดท้ายขอบคุณคุณท่าน ณรงค์ แพ้วพลสง โฆษก สพฐ. ที่ได้จัดให้มีการประชุมถึงเพื่อนครูโดยตรง ผู้บริหาร สพฐ.ทุกท่าน ผู้อำนวยการเขต หรือรองที่รักษาการ ทีมงานเขตพื้นที่ทุกท่านที่ได้ร่วมรับชมและนำไปสู่การปฏิบัติ...สวัสดีครับ

พบกับ พุธเช้า ข่าว สพฐ. ครั้งต่อไป 1 พฤศจิกายน 2560

เลิกประชุม 09.21 น.